ช่วงต้นพระชนม์ชีพ ของ จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล

ประสูติ

พระสาทิสลักษณ์ เจ้าชายเปดรูขณะมีพระชนมายุ 2 พรรษา ราวปีพ.ศ. 2343

เจ้าชายเปดรูประสูติในเวลา 8 โมงเช้า[3]ของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2341 ณ พระราชวังหลวงเกวลูซ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส [4] พระองค์ทรงได้รับการตั้งพระนามตาม นักบุญปีเตอร์แห่งอัลคันทารา [5] และพระนามเต็มของพระองค์คือ เปดรู เดอ อัลคันทารา ฟรานซิสโก อันโตนิโอ ฌูเอา คาร์ลอส ซาเวียร์ เดอ เปาลา มิเกล ราฟาเอล โจอาควิม โจเซ กอนซากา ปาสโคอัล ซิปิอาโน เซราฟิม[6] พระองค์ทรงได้รับพระอิสริยยศ "ท่านชาย" (Don) เพื่อเป็นพระเกียรติยศเมื่อประสูติ[7]

พระองค์เป็นสมาชิกสมาชิกในราชวงศ์บราแกนซา (ภาษาโปรตุเกส:Bragança) ผ่านทางพระราชบิดาของพระองค์คือ เจ้าชายฌูเอา (ต่อมาคือ พระเจ้าฌูเอาที่ 6 แห่งโปรตุเกส) [8][9] และพระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าเปดรูที่ 3 แห่งโปรตุเกสกับ สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 แห่งโปรตุเกส ซึ่งทั้งสองพระองค์มีศักดิ์เป็นทั้งปิตุลาและนัดดาและยังเป็นสวามีและมเหสีกันด้วย[10][11] พระราชมารดาของเจ้าชายเปดรูคือ เจ้าหญิงคาร์ลอตา โจวควินาแห่งสเปน ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปน[12] พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าชายเปดรูถือว่าเป็นคู่อภิเษกสมรสที่ไม่มีความสุข พระนางคาร์ลอตา โจวควินาทรงเป็นสตรีผู้มีความทะเยอทะยาน ทรงพยายามทุกวิถีทางในการแสวงหาผลประโยชน์แก่สเปนโดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของโปรตุเกส พระนางไม่ทรงจงรักภักดีต่อพระสวามีอย่างที่เลื่องลือ พระนางทรงวางแผนล้มราชบัลลังก์ของพระสวามีตราบเท่าที่ทำได้ ทำให้ขุนนางโปรตุเกสไม่พอใจในพระนาง[13][14]

ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง เจ้าชายเปดรูทรงกลายเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ในรัชสมัยของพระราชบิดาและทรงได้รับพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเบย์รา หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟรานซิสโก อันโตนิโอแห่งเบย์รา พระเชษฐาในปีพ.ศ. 2344[15] เจ้าชายฌูเอาทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 พระราชมารดา หลังจากพระราชินีมาเรียทรงถูกประกาศว่าทรงวิปลาสและไม่สามารถประกอบพระราชกิจได้ในปีพ.ศ. 2335[16][17] โดยในปีพ.ศ. 2345 พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าชายเปดรูทรงบาดหมางกัน เจ้าชายฌูเอาประทับที่พระราชวังหลวงมาฟราส่วนเจ้าหญิงคาร์ลอตาประทับที่พระราชวังรามัลเฮา[18][19] เจ้าชายเปดรู พระอนุชาและพระภคินีประทับที่พระราชวังเกวลูซด้วยกันกับสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 1 พระอัยยิกา ห่างจากพระราชบิดาและพระราชมารดา[18][19] ทั้งสองพระองค์มีโอกาสได้พบกับพระโอรสธิดาในช่วงระหว่างแปลพระราชฐานอย่างเป็นทางการมาที่เกวลูซเพียงเท่านั้น[18]

การศึกษา

เจ้าชายเปดรูขณะมีพระชนมายุ 11 พรรษา ราวปีพ.ศ. 2352

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2350 ขณะที่เจ้าชายเปดรูมีพระชนมายุ 9 พรรษา พระราชวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยออกจากโปรตุเกสจากการรุกรานของกองทัพฝรั่งเศสที่ถูกส่งมาโดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 กำลังเข้าใกล้กรุงลิสบอน เจ้าชายเปดรูและพระราชวงศ์ได้เสด็จถึงรีโอเดจาเนโร เมืองหลวงของบราซิล ซึ่งเป็นอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดของโปรตุเกส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2351[20] ในระหว่างการเดินทางเจ้าชายทรงอ่านบทประพันธ์แอเนียดของเวอร์จิลและทรงสนทนากับลูกเรือเพื่อเรียนรู้ทักษะการเดินเรือ[21][22] ในบราซิล หลังจากประทับที่พระราชวังปาโคเพียงระยะสั้นๆ เจ้าชายเปดรูและพระอนุชาคือ เจ้าชายมิเกลได้ย้ายมาประทับร่วมกับพระราชบิดาที่พระราชวังปาโค เดอ เซา กริสโตเบา (พระราชวังแห่งนักบุญคริสโตเฟอร์) [23] ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงเคยใกล้ชิดสนิทสนมกับพระราชบิดา แต่เจ้าชายเปดรูทรงรักพระองค์และทรงโกรธเคืองผู้ที่ทำให้พระราชบิดาเสือมเสียพระเกียรติซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยผู้อยู่เบื้องหลังคือพระนางคาร์ลอตา โจวควินา พระราชมารดา[18][24] เมื่อทรงเจริญพระชันษา เจ้าชายเปดรูทรงขนานพระนามพระราชมารดาอย่างเปิดเผยและทรงแสดงความรู้สึกเหยียดหยามพระราชมารดาว่า "สุนัขตัวเมีย" (Bitch) [25]

ประสบการณ์ช่วงแรกที่ทรงพบเป็นช่วงของการทรยศ, ความเย็นชาและการเพิกเฉย สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อการบ่มเพาะพระอุปนิสัยของเจ้าชายเปดรู[18] ความเด็ดเดี่ยวที่ทรงมีอยู่พอสมควรในช่วงที่ทรงพระเยาว์ทำให้ทรงถูกเลี้ยงดูโดย ไออา (aia;พระอภิบาล) ดอนญา มาเรีย เจโนเววา โด เรโก อี มาโตส ผู้ซึ่งเจ้าชายทรงรักเปรียบเสมือนพระมารดา[26][27] และการเลี้ยงดูจาก ไอโอ (aio; พระอาจารย์และผู้ควบคุมดูแล) บาทหลวงอันโตนิโอ เดอ อาร์ราบิดา ผู้ซึ่งกลายเป็นที่ปรึกษาของเจ้าชาย[22] ทั้งสองคนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องอภิบาลเจ้าชายเปดรูให้เจริญพระชันษาและจัดหาการศึกษาที่เหมาะสมแก่พระองค์ การศึกษาของพระองค์นั้นได้ถูกจัดให้ศึกษาโดยรวมที่ซึ่งเรียงตามลำดับวิชาประกอบด้วย คณิตศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, ตรรกศาสตร์, ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์[28] พระองค์ทรงเรียนรู้ที่จะอ่านและเขียนไม่เพียงภาษาโปรตุเกสแต่ทรงเรียนรู้ได้ทั้งภาษาละตินและภาษาฝรั่งเศส[29] พระองค์สามารถแปลภาษาอังกฤษและเข้าพระทัยในภาษาเยอรมัน[30] ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาทรงครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแล้ว พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับเวลาอย่างน้อยสองชั่วโมงของแต่ละวันในการศึกษาและการอ่าน[30][31]

ถึงอย่างไรก็ตามการให้ศึกษาของเจ้าชายเปดรูจะกว้างขวาง แต่การศึกษาของเจ้าชายเปดรูกลับขาดแคลน นักประวัติศาสตร์ โอตาวิโอ ทาร์ควินิโอ เดอ เซาซา ได้กล่าวถึงเจ้าชายเปดรูว่า "ทรงปราศจากความสงสัย, ไหวพริบ, [และ]ปัญญาที่เฉียบแหลม"[32] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ โรเดอริค เจ. บาร์แมน ได้เล่าถึงพระองค์โดยตามธรรมชาติที่ว่า "ทรงกระตือรือร้นมาก, ทรงเอาแน่เอานอนไม่ได้, และทรงถืออารมณ์เป็นใหญ่" พระองค์ยังมีพระอุปนิสัยหุนหันพลันแล่นและไม่ทรงเคยที่จะเรียนรู้การควบคุมพระองค์เองหรือการประเมินผลของการตัดสินพระทัยของพระองค์และทัศนคติที่เหมาะสมเปลี่ยนไปตามสถานการณ์[33] พระราชบิดาไม่ทรงยอมให้ผู้ใดอบรมลงโทษเจ้าชาย[28] ในขณะที่กำหนดการของเจ้าชายเปดรูควบคุมให้พระองค์มีเวลาศึกษาสองชั่วโมงในแต่ละวัน บางครั้งพระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการดำเนินพระชนม์ชีพตามกำหนดการโดยการไล่พระอาจารย์ออกไปเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่ทรงเห็นว่าน่าสนพระทัยกว่า[28]

อภิเษกสมรสครั้งแรก

พระสาทิสลักษณ์เจ้าชายเปดรูขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา วาดโดย ฌอง-แบ็ฟติสท์ เดเบรต์ ราวปีพ.ศ. 2359

เจ้าชายเปดรูทรงสามารถบรรลุเป้าหมายในการทำกิจกรรมต่างๆที่ซึ่งทรงได้รับทักษะทางกาย มากกว่าในห้องเรียน ขณะประทับที่ซานตาครูซฟาร์มของพระราชบิดา เจ้าชายได้ฝึกทรงม้า และกลายเป็นผู้ทรงม้าได้อย่างดีเยี่ยมและทรงเป็นช่างตีเหล็กใส่เกือกม้าที่เยี่ยมยอดด้วย[34][35] ขณะประทับบนหลังม้า พระองค์และเจ้าชายมิเกล พระอนุชาทรงสามารถแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความกล้าหาญ ทั้งสองพระองค์พอพระทัยกับการทรงม้าไปยังในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ผ่านป่าและแม้ว่าจะเป็นตอนกลางคืนหรือในสภาพอากาศที่แปรปรวน[34] พระองค์ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพทางศิลปะและงานฝีพระหัตถ์ พระองค์ทรงจัดสร้างที่ทำงานส่วนพระองค์ที่ซึ่งพระองค์จะใช้เวลาในการแกะสลักไม้และสร้างเครื่องเรือน[36] นอกจากนี้พระองค์ทรงมีรสนิยมด้านดนตรีและภายใต้คำแนะนำจากมาร์คอส ปอร์ตูเกล ทำให้เจ้าชายทรงมีทักษะด้านการประพันธ์เพลง พระองค์มีพระสุรเสียงในการขับร้องที่ไพเราะและชำนาญในการทรงฟลูต, ทรอมโบน, ฮาร์ปซิคอร์ด, บาสซูน, ไวโอลินและกีตาร์ ต่อมาทรงใช้เล่นเพลงและเต้นรำกับเพลงที่เป็นที่นิยมเช่น ลุนดู, โมดินฮา และฟาโด [37]

พระบุคลิกลักษณะของเจ้าชายเปดรูทรงเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉงโดยทรงเป็นผู้ที่ไม่อยู่นิ่ง พระองค์มีพระบุคลิกที่หุนหันพลันแล่นด้วยมีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำโดยอารมณ์และทรงพิโรธได้ง่าย ทรงเบื่อหน่ายและเสียสมาธิได้ง่าย ในชีวิตส่วนพระองค์ทรงทำให้พระองค์เองเพลิดเพลินด้วยการตรัสแทะโลมสตรี นอกจากนั้นทรงทำกิจกรรมล่าสัตว์และทรงม้า[38] ด้วยพระอารมณ์ที่กระสับกระส่ายได้กระตุ้นให้พระองค์ทรงแสวงหาการผจญภัย[39] และบางครั้งทรงปลอมพระองค์เป็นนักเดินทาง พระองค์ทรงเดินทางไปยังเขตอโคจรในรีโอเดจาเนโรเป็นประจำ[40] พระองค์เสวยน้ำจัณฑ์ไม่บ่อย[41] แต่โปรดการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตาเพียงชั่วคราวอย่างแก้ไขไม่ได้[42] เรื่องอื้อฉาวของพระองค์ในช่วงแรกๆทรงมีความสัมพันธ์กับนักเต้นรำชาวฝรั่งเศส นัวอ์มี ทีร์เอร์รี ซึ่งมีบุตรร่วมกันแต่ได้เสียชีวิตในวันคลอด พระราชบิดาของเจ้าชายเปดรูซึ่งได้ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าฌูเอาที่ 6 แห่งโปรตุเกส ทรงทำการส่งทีร์เอร์รีออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเสี่ยงกับแผนการหมั้นหมายของเจ้าชายกับอาร์ชดัชเชสมาเรีย ลีโอโพลดีนาแห่งออสเตรีย พระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย (อดีตสมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) [43][44]กับเจ้าหญิงมาเรีย เทเรซา แห่งเนเปิลส์และซิซิลีส์

ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2360 เจ้าชายเปดรูทรงอภิเษกสมรสโดยฉันทะกับอาร์ชดัชเชสมาเรีย ลีโอโพลดีนา[45][46] เมื่อพระนางเสด็จถึงรีโอเดจาเนโรในวันที่ 5 พฤศจิกายน พระนางทรงตกหลุมรักเจ้าชายเปดรูในทันที ซึ่งทรงมีเสน่ห์และดึงดูดพระทัยมากกว่าที่พระนางทรงดำริไว้ หลังจาก"ปีภายใต้พระอาทิตย์เขตร้อนชื้น ลักษณะสีผิวของพระองค์ยังคงสว่าง พระปรางเป็นสีชมพูผ่องใส" เจ้าชายซึ่งมีพระชนมายุ 19 พรรษาทรงพระสิริโฉมและทรงสูงกว่ามาตรฐานในขณะนั้นเพียงเล็กน้อย ด้วยพระเนตรดำสว่างและพระเกศาสีน้ำตาลเข้ม[34] "รูปลักษณะที่ดีของพระองค์" ในคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ นีล ดับเบิลยู. มาเคาเลย์ จูเนียร์. "ทรงมีความรับผิดชอบ, ทะนงตน และทรงซื่อตรงแม้กระทั่งในวัยที่เข้าสู่ความเป็นหนุ่ม และการดูแลเรื่องฉลองพระองค์และรูปลักษณะของพระองค์ ที่ซึ่งไม่มีข้อบกพร่อง ทรงมีระเบียบและสะอาดอย่างเป็นประจำ พระองค์ทรงสรงน้ำเป็นประจำตามวัฒนธรรมแบบบราซิล"[34] พิธีรับศีลในวันอภิเษกสมรส ด้วยการให้คำปฏิญาณตามคำสาบานที่ให้ไว้ในการอภิเษกสมรสโดยฉันทะครั้งก่อน พิธีรับศีลได้เกิดขึ้นในวันถัดมา[47] การอภิเษกสมรสครั้งนี้ทำให้ทรงให้กำเนิดพระโอรสธิดาร่วมกัน 7 พระองค์ได้แก่ เจ้าหญิงมาเรีย (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 2 แห่งโปรตุเกส), เจ้าชายมิเกล, เจ้าชายฌูเอา, เจ้าหญิงยาโนเรีย, เจ้าหญิงเปาลา, เจ้าหญิงฟรานซิสกา และเจ้าชายเปดรู (ต่อมาคือ สมเด็จพระจักรพรรดิเปดรูที่ 2 แห่งบราซิล) [48]